๔. สมุทรโฆษคำฉันท์

| | |
๔.    สมุทรโฆษคำฉันท์
                  สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจาก วรรณคดีสโมสร ในสมัยรัชกาลที่  ว่าเป็นเรื่องที่แต่งดีเป็นเยี่ยมในกระบวนคำฉันท์ เป็นวรรณกรรมขนาดย่อม มีความยาว ของเนื้อเรื่อง ๒๑๒๘ บท(นับรวมแถลงท้ายเรื่อง ๒๑ บท ) กับโคลงท้ายเรื่องอีก ๔ บท
                สมุทรโฆษคำฉันท์นับเป็นหนึ่งในวรรณคดีไทย ที่มีประวัติอันยาวนาน สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จวบจนถึงช่วงต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีเนื้อหาแบบนิยายไทยทั่วไป ที่มีความรักและการพลัดพราก กวีได้สอดแทรกขนบการแต่งเรื่องไว้อย่างสมบูรณ์ ขณะเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ยังใช้วรรณคดีเล่มนี้สำหรับการอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมด้วย


ประวัติและผู้แต่ง   สมุทรโฆษคำฉันท์มีผู้แต่งสามท่าน ซึ่งแต่งในยุคสมัยต่างๆ กัน ดังนี้
              ๑. พระมหาราชครู แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่แต่งตั้งปี พ.ศ. ใดไม่ปรากฏ คาดว่าน่าจะอยู่ในราว พ.ศ. ๒๒๐๐ ท่านได้แต่งไว้ ๑๒๕๒ บท นับตั้งแต่ต้น จนถึงตอน "งานสยุมพรพระสมุทรโฆษกับนางพินทุมดี" ด้วยกาพย์ฉบัง ที่ว่า
                             พระเสด็จด้วยน้องลีลาส     ลุอาศรมอาส-
                      นเทพลบุตรอันบนฯ
๒. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เอง ๒๐๕ บท แต่ไม่จบเรื่อง ก็สวรรคตเสียก่อน ทรงแต่งตั้งแต่ตอน "พระสมุทรโฆษและนางพินทุมดีไปใช้บน" (แก้บน) จนถึง ตอนที่พิทยาธรสองตนรบกัน (ตนหนึ่งตกลงไปในสวน) แต่ยังรบไม่จบ ทรงแต่งจนถึงสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙ ที่ว่า
             แต่นี้พี่อนุช(ะ)ถึงแก่กรรม(ะ)พิกล        เรียมฤๅจะยากยล พธู
     ตนกูตายก็จะตายผู้เดียวใครจะแลดู        โอ้แก้วกับตนกู ฤเห็นฯ
๓. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงพระนิพนธ์ต่อจากนั้นจนจบเรื่อง นับได้ ๘๖๑ บท หลังจากที่ค้างอยู่นานถึง ๑๖๐ ปี (นับจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๑) เนื่องจากไม่มีผู้ใดกล้าแต่งต่อ โดยได้ทรงพระนิพนธ์เป็นสองช่วง และสุดท้ายก็จบเรื่อง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ (จ.ศ. ๑๒๑๑) 

เนื้อเรื่อง    ดัดแปลงมาจากสมุทรโฆษชาดก ในปัญญาสชาดก กล่าวคือเป็นชาดกที่มิได้มีอยู่ในพระไตรปิฎก แต่เนื้อหาในเรื่องที่พระราชครูแต่งนั้น แตกต่างไปจากชาดกอยู่บ้าง ทว่าเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงแต่ง พระองค์ได้ดำเนินตามปัญญาสชาดกจนจบเรื่อง

คำประพันธ์  คำฉันท์ นั่นคือ ประกอบด้วยฉันท์ และกาพย์
  •     กวีทั้งสามได้แต่งฉันท์ตามขนบฉันท์โบราณ กล่าวคือ เสียงหนักเบา (ครุ ลหุ) มิได้กำหนดจากเสียงสระเสียงยาวหรือเสียงสั้นอย่างในชั้นหลัง หากแต่เน้น หนักเบาจากเสียง ฉันท์ทั้งหมดนี้ขึ้นเพื่อการอ่านทำนองเสนาะ ที่มีจังหวะจะโคนไพเราะ โดยมีการใช้เลขกำกับจำนวนคำในแต่ละบาทของฉันท์นั้น
  •    คำฉันท์ในเรื่อง ไม่ได้ระบุชนิด แต่บอกจำนวนคณะเอาไว้ เช่น ๑๑, ๑๒ เป็นต้น เลขระบุฉันท์และกาพย์ มีดังนี้ 
  •     กาพย์ 

๑๖ : กาพย์ฉบัง, ๒๘ : กาพย์สุรางคนางค์

  •        ฉันท์

      ๑๑ : อินทรวิเชียรฉันท์, ๑๒ : โตฏกฉันท์, ๑๔ : วสันตดิลกฉันท์, ๑๕ : มาลินีฉันท์, ๑๙ : สัททุลวิกกีฬิตฉันท์, ๒๑ : สัทธราฉันท์, ๒๘ : สุรางคนางค์ฉันท์

ภาษาที่ใช้   ด้วยวรรณกรรมเรื่องนี้แต่งขึ้นในสมัยอยุธยา ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาเก่า อ่านเข้าใจไม่ง่ายนัก ทั้งยังมีฉันท์อยู่หลายตอน ซึ่งนิยมแต่งด้วยคำภาษาบาลีและสันสกฤต ทั้งยังมีเขมรแทรกอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นหนังสือที่อ่านยากจนเกินไป และยังมีหลายตอนที่ใช้ภาษาไทยอย่างง่ายๆ อย่างเข้าใจได้ดีแม้ในปัจจุบัน

คุณค่า  
  •      เป็นวรรณกรรมชิ้นแรกๆ ของไทย ที่มีขนบการเล่าเรื่องที่ละเอียด คล้ายกับบทละคร มีการเล่าเรื่องโดยสังเขปไว้ในตอนต้น เล่าเรื่องเบิกโรงที่เล่น ก่อนเล่าเรื่องจริง โดยเฉพาะการเล่นเบิกโรงนั้น บ่งบอกถึงประวัติการละเล่นของไทยได้เป็นดี เช่น การเล่นหัวล้านชนกัน เล่นชวาแทงหอก เล่นจระเข้กัดกัน เป็นต้น
  •      เป็นวรรณกรรมคำสอน ที่นำนิทานอิงธรรม มาแต่งด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ใช้อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน และมีคติธรรม นอกจากนี้ นักวรรณคดีบางท่านยังอ้างว่า เป็นการแต่งเพื่อเฉลิมฉลองงานพระชนมายุครบ ๒๕ พรรษาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วย

ตัวอย่าง
วุ้งเวิ้งเพิงตระพักเสลา      หุบห้องคูหา
แลห้วงแลห้วยเหวลหาร

พุน้ำชำเราะเซาะธาร    ไหลลั่นบันดาล
ดั่งสารพิรุณธารา

เงื้อมง้ำโชงกชง่อนภูผา   พึงพิศโสภา
เปนชานเปนช่องปล่อปน

สีสลับยยับพรรณอำพน   เหลืองหลากกาญจน
แลขาวคือเพชรรัศมีฯ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น