๔.ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์

| | |


  ๔.ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์



  ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์  มีชื่อเรียกว่า  นางนพมาศบ้าง เรวดีนพมาศบ้าง    เป็นหนังสือที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสมัยที่แต่ง  นักวรรณคดีมีความเห็นตรงกันว่า  ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นหนังสือที่แต่งเติมหรือแต่งใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้เค้าเรื่องเดิม  ทั้งนี้เพราะมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  เช่น  การกล่าวถึงชนชาติอเมริกัน    การกล่าวถึงปืนใหญ่ซึ่งไม่มีในสมัยนั้น  ถ้อยคำสำนวนเป็นถ้อยคำใหม่  มีคำกลอนซึ่งเกิดขึ้นหลังสมัยกรุงสุโขทัยอยู่ด้วย
ผู้แต่ง      นางนพมาศเป็นธิดาของพระศรีมโหสถและนางเรวดี  มีรูปสมบัติและคุณสมบัติที่งดงาม  ได้รับการอบรมจากบิดา  มีความรู้ทางอักษรศาสตร์  พุทธศาสนา  ศาสนาพราหมณ์  การช่างของสตรี  ตลอดจนการขับร้องดนตรี  ถวายตัวเป็นสนมทำหน้าที่ขับร้องถวาย  ได้เป็นพระสนมเอกของพระยาลิไท  ตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์
ความมุ่งหมาย    เพื่อแสดงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ และจริยธรรมของผู้รับราชการฝ่ายใน
ลักษณะการแต่ง     แต่งเป็นร้อยแก้ว  มีกลอนดอกสร้อยแทรกอยู่  ๕  บท
เนื้อหาสาระ   แบ่งออกได้เป็น  ๕  ตอน  คือ
๑. กล่าวถึงชาติและภาษาต่างๆ
๒. ยอพระเกียรติพระร่วง  เล่าชีวิตของชาวสุโขทัยและสถานที่บางแห่ง
๓. ประวัติของนางนพมาศเอง
๔. คุณธรรมและการปฏิบัติหน้าที่ของนางสนม
๕. พระราชพิธีต่างๆ เช่น  พระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป(เดือนสิบสอง),     พระราชพิธีวิสาขะและพระราชพิธีจรดพระนังคัล (เดือนหก),  พระราชพิธีอาษาฒมาส (เดือนแปด),   พระราชพิธีอาสวยุช(เดือนสิบเอ็ด)      เป็นต้น
คุณค่าของหนังสือ    ๑.   ด้านวัฒนธรรม    มีคุณค่าในการแสดงหลักฐานทางวัฒนธรรมโบราณของไทย    ทำให้เรารู้เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีในพระราชสำนัก  ได้แก่  ประเพณีการลอยกระทง  การปฏิบัติตัวของหญิงชาววัง  เช่น  ตำแหน่งหน้าที่ของนางนพมาศ    และการศึกษาของเด็กไทยสมัยก่อน  เช่น  การที่พระศรีมโหสถบิดานางนพมาศได้ให้นางนพมาศศึกษาอักษรสยามพากย์และอักษรสันสกฤตจนชำนาญ                       
๒.  ด้านสังคม  ให้ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติสตรีและค่านิยมทางสังคม  ได้แก่  ความประพฤติ   ความขยัน    รวมทั้งวิชาทางช่าง  หนังสือเรื่องนี้เป็นหลักฐานแสดงว่าหญิงไทยของเรามีนิสัยช่างประดิษฐ์มาตั้งแต่โบราณ  เช่น    การที่นางนพมาศประดิษฐ์โคมลอยดอกกระมุท  และการที่ข้าราชบริพารฝ่ายในประดิษฐ์โคมประทีปให้มีลวดลายต่างๆ เป็นต้น
๓.   ด้านภาษา    มีคุณค่าทางอักษรศาสตร์และวรรณคดี  เรื่องนี้ใช้โวหารในเชิงพรรณนาได้อย่างดียิ่ง  ทำให้น่าอ่านและเข้าใจง่าย
๔. ด้านโบราณคดี  ให้ความรู้ในทางโบราณคดี  เป็นประโยชน์ในการสอบสวนพระราชพิธีต่างๆ
ตัวอย่างบางตอน   

๑. ข้อปฏิบัติของข้าราชการฝ่ายใน
"อย่าทำรีๆ ขวางๆ ให้เขาว่า   อย่าทำเซ่อๆ ซ่าๆ ให้ท่านหัว  อย่าประพฤติตัวเก้อๆ ขวยๆ ให้คนล้อ   อย่าทำลับๆ ล่อๆ ให้เขาถาก  อย่างทำโปกๆ ปากๆ ให้ท่านว่ากิริยาชั่ว   จงแต่งตัวให้งามต้องตาคน จะประพฤติตนให้ต้องใจท่านทั้งหลาย  จงฝากตัวมูลนายให้กรุณา   จงระวังเวลาราชการ….."
๒. การประดิษฐ์ โคมในพระราชพิธีจองเปรียง
"ข้าพระองค์สำคัญใจคิดเห็นว่า  เป็นนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสอง  พระจันทร์แจ่มแสงปราศจากเมฆมลทิน     อันว่าดวงดอกชาติโกสุมประทุมมาลย์  มีแต่จะเบ่งบานกลีบรับแสงอาทิตย์   ถ้าชาติอุบลเหล่าใดบานผกาเกสรรับแสงพระจันทร์แล้วก็ได้ชื่อว่า  ดอกกระมุท  ข้าพระองค์จึงทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทซึ่งบังเกิดมีอยู่ยังนัมมทานที  อันเป็นที่พระบวรพุทธบาทประดิษฐาน"
๓. ชีวิตความเป็นอยู่
"ถึงวันวิสาขนักขัตฤกษ์ครั้งใดก็สว่างไปด้วยแสงประทีป เทียน ดอกไม้เพลิง แล้วล้างด้วยธงชายไสวไปด้วยพู่พวงดอกไม้ร้อยกรองห้อยแขวน หอมตลบไปด้วยกลิ่นสุคนธรสรวยรื่น เสนาะสำเนียงพิณพาทย์  ซ้องกลองทั้งทิวาราตรี  มหาชนชายหญิงพากันกระทำกองการกุศล"
 

       

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น